ท่องเที่ยวชุมชม ณ เมืองเก่าภูเก็ต สัมผัสความเป็นท้องถิ่นในอารยธรรมเมือง
ไข่มุกอันดามัน’ คือคำนิยามของจังหวัดภูเก็ตที่มีความสุขให้เราสัมผัสเกินขนาดของพื้นที่ หลาย ๆ คนเวลานึกถึงภูเก็ตคงจะคิดถึงพระอาทิตย์ตกดินที่ให้อารมณ์เสมือนอยู่ในภาพยนต์ Before Sunset และความสวยงามเกินจะบรรยายของเกาะเล็ก เกาะใหญ่ ทั่วพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต ที่กระจัดกระจายอยู่ในความทรงจำของผู้มาเยือน
รวมถึงหลาย ๆ คนก็คงจะคิดถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองภูเก็ตไม่ว่าจะเป็นเหล่าอากง อาม่าที่คอยยิ้มต้อนรับเราเสมือนเป็นลูกหลาน และบัง ๆ ที่พร้อมจะช่วยเหลือคนต่างถิ่นแบบเราให้อบอุ่นหัวใจเสมอยามไปเยือนภูเก็ต และต่างชาติที่ Say Hi พร้อมโบกมือทักทายเมื่อพบเจอ
ภูเก็ตถึงเป็นหมุดหมายหลักของเหล่านักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงชาวไทยเมื่อถึงช่วง Summer และวันหยุดยาว เพราะอัตลักษณ์ของภูเก็ตไม่ได้มีแค่ธรรมชาติที่ร้อยเรียงให้นักท่องเที่ยวได้เลือกจิ้มเท่านั้น หากจะรวมไปถึงผู้คนที่รอให้เราไปสัมผัสวัฒนธรรมที่หลากหลายในพื้นที่ 543.034 ตร.กม.
นอกจากนั้นแล้วจุดแลนด์มาร์กสำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องเข้าไปเที่ยวชมให้ได้ของจังหวัดภูเก็ตก็คือ ‘เมืองเก่าภูเก็ต’ ที่ผสมความเป็นท้องถิ่น และความเป็นเมืองได้อย่างกลมกลืนชนิดที่หากไม่สังเกตุเราก็คงไม่ทันได้เห็น และสัมผัสกับมัน
วันนี้เราเลยอยากจะพาทุกคนขึ้นจากเกาะ พักจากการเล่นเซิร์ฟ มาชมสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ที่ ‘เมืองเก่าภูเก็ต’ ไปพร้อมกัน
สถาปัตยกรรมหลอมรวมผู้คน
ตลอดช่วงถนนในเมืองเก่าภูเก็ต มีตึกเก่าสุดคลาสสิคให้นักเสพย์ศิลป์ และนักท่องเที่ยวได้ยลโฉมเต็มสองตา ตึกรามบ้านช่องที่เหมือนหลุดเข้าไปในอีกโลกของจังหวัดภูเก็ต ถึงแม้ในปัจจุบันในบริเวณรอบข้างจะคลับคล้ายคลับคลาจะเป็นเมืองใหม่กันมากขึ้น แต่เมืองเก่าภูเก็ตไม่ใช่แบบนั้น เพราะตัวอาคาร และตึกต่าง ๆ ยังคงถูกอนุรักษ์ด้วยสไตล์ชิโนโปรตุกีส ที่ไม่ว่าเราจะลัดเลาะไปบนเส้นถนนสายไหน ก็จะเห็นตัวอาคารสไตล์ดังกล่าวแบบหนำใจ
ลึมกล่าวไปว่าในเมืองเก่าภูเก็ตจะมีถนนหลายสายให้เราได้เลือกเดินเสพย์ตัวอาคาร แต่เส้นทางที่ผู้คนนิยมกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ถนนเทพารักษ์ ถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนเยาวราช รวมไปถึงถนนกระบี่ และซอยรมณีย์ที่มีของดีซุกซ่อนอยู่ตลอดซอย
สำหรับตัวอาคารชิโน-โปรตุกีส ถึงแม้ว่าในภายหลังจะมีการเปลี่ยนชื่อไปเป็นชิโน-ยูโรเปี้ยน ตามนักวิชาการในพื้นที่ แต่ประวัติศาสตร์ของผู้คนที่มาอาศัยก่อนหน้านี้ก็ยังคงเดิมไม่มีสิ่งใดมาเปลี่ยนแปลงได้
ตัวอาคารจึงเปรียบเสมือนการหลอมรวมของผู้คนที่มาค้าขายในช่วงเวลานั้น ผสมผสานวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม รวมไปถึงอาหารการกินให้คงอยู่ตลอดไป
ยังไม่รวมถึงตีกรามบ้านช่องที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วเมืองเก่าภูเก็ต รอให้เราละเมียดละไม และยลมนต์เสน่ห์ไปกับสถาปัตยกรรมหลงยุค มีตัวอาคารให้เราไปเก็บความทรงจำผ่านการลั่นชัตเตอร์ และเก็บตัวอาคารเหล่านั้นอยู่ในห้วงความทรงจำตลอดไป
ยังไม่รวมถึงซอยรมณีย์ ที่อดีตเคยเป็นแหล่งเริงรมย์ ที่กลายมาเป็นจุดเช็กพอยต์ของเราให้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไปพร้อมกับคาเฟ่ที่เรียงแถวให้เราเลือกจิ้มไปนั่งหลบแดด หลบฝน
Grafiti เสกผนังให้มีชีวิตบ่งบอกถึงวิถี
นอกจากตัวอาคารที่ทำให้เราหลังรักหัวปักหัวปำแล้ว ยังมี Grafiti ที่ศิลปินจากกลุ่ม So Phuket ละเลงพ่นก่อให้เกิด Street Art ทรงคุณค่าไปทั่วเมืองเก่าภูเก็ต รอให้เราเพ่งเล็ง และหาลายแทงวิถีชีวิตที่เป็นท้องถิ่น ในอารยธรรมเมือง
ตัวของ Steet Art จะเล่าถึงวิถีชีวิตของชุมชม และผู้คนในจังหวัดภูเก็ตทั่วสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นขนมพื้นบ้านที่ถูกละเลงไปบนผนัง หรือประเพณีการคลอดลูกของชาวภูเก็ตที่มักจะมอบขนมกับไข่ต้มใส่ปิ่นโตสีแดง ไปให้ญาติ ๆ รววไปถึงภาพอื่น ๆ ที่ทุกภาพที่พ่นออกไปล้วนมีความหมาย และให้เมืองเก่ามีชีวิตชีวา มีสีสันให้เราได้สูดดมความเป็นวิถีชีวิตที่เข้ากับความเป็นสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน
มันถึงเป็นสถานที่ที่เราไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง การได้เห็นตัวอาคารหลงยุค กับ Steet Art ที่บ่งบอกถึงความเป็นสมัยใหม่ และวิถีชีวิตของชาวภูเก็ต ที่จะสถิตย์อยู่ตรงนั้นรอเวลาให้เราได้ไปสัมผัสกับความงดงามด้านประพณีวัฒนธรรมของชาวท้องถิ่น
ลิ้มลองอาหาร อิ่มไปด้วยอรรถรสทางวัฒนธรรม
เดินชมสถาปัตยกรรม และ Street Art ไปสักพักใหญ่ ๆ เริ่มมีอาการหิวในอาหารกันบ้าง อยากจะบอกว่าเราสามารถหาอาหารที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญานในเมืองเก่าภูเก็ตได้เลย ไม่ต้องออกไปหาบริเวณอื่น ๆ
เพราะในเมืองเก่าภูเก็ต มีทั้งอาหารพื้นเมืองของภูเก็ตเอง อาหารตะวันออก ตะวันตก จนไปถึงอาหารฟิวชั่น ให้เราได้ลิ้มลองกัน
ไม่รอช้าเราเดินตรงไปที่บ้านขุนนิเทศจีนารักษ์ ฟังเรื่องเล่า และประวัติศาสตร์จีนฮกเกี้ยน เข้าชมบ้านโบราณ ‘เตี่ยมฉู่’ และเริ่มไปหยิบอาหารมารับประทาน
เริ่มกันที่ของเบา ๆ อย่างปุ๊นเตโก้ย ที่ปุ๊นเต มีความหมายว่า ‘พื้นเมือง’ ส่วนโก้ย หมายถึงฟู หรือขนมสด รวมกันเป็นขนมสดพื้นเมือง ซึ่งมีหลายหลากรูปแบบให้เราเลือกหยิบกิน ยิ่งกินคู่กับโกปี๊ ต้องบอกเลยว่าฟินอย่างบอกไม่ถูก
จิบโกปี๊ไป สัมผัสรสชาติของปุ๊นเตโก้ยไป พร้อมมีทิวทัศน์ข้างหน้าเป็นตึกจากยุคก่อน มีเสียงกู่เจิ้งคอยบรรเลงคล้ายมันคือเพลงคลาสสิค มันส่งผลให้อาหารที่เรากินไปนั้น มีเรื่องราวผสมปะปนอยู่ด้วย ทำให้เราได้อรรถรสทางวัฒนธรรมได้ง่าย ๆ
จากนั้นเราก็ต่อกันที่ขนมอังกู๊ ซึ่งเราสามารถปั้นขึ้นเองได้ด้วยผ่าน Workshop สำหรับขนมอังกู๊อธิบายง่าย ๆ ก็คือขนมเต่าเมืองภูเก็ต โดยชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนฮกเกี๊ยนจะใช้ขนมอังกู๊มาทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เทวดา เป็นต้น
กินของเบา ๆ มาพอสมควรได้เวลากินของหนัก ๆ บ้าง ‘หมี่ผัดฮกเกี้ยน’ คือเมนูที่ห้ามพลาด เพราะด้วยความเป็นต้นตำรับ และรสชาติที่เหมือนได้กลืนเรื่องราวเข้าไป ทำให้เราได้ล้วงรู้ถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา และอีกอย่างเราสามารถผัดเองได้ โดยจะมีเชฟประกบอยู่ตลอดเวลา
หรือสำหรับใครที่อยากสัมผัสความเป็นท้องถิ่นมากกว่านี้ ตกเย็นแนะนำให้ไปเดินที่ถนนคนเดิน ตลาดหลาดใหญ่ เพราะคุณจะได้สัมผัสกับความเป็นท้องถิ่นอีกด้าน ที่มีตึกยุคเก่าล้อมรอบ เราจะหาน้ำชา โกปี๊ และขนมพื้นเมืองอื่น ๆ ได้ที่นี้
ทำกิจกรรมล้วงถึงประวัติศาสตร์
ตบท้ายทริปเที่ยวชุมชน ณ เมืองเก่าภูเก็ตด้วย Workshop ที่จะทำให้เราได้สัมผัสกับประเพณีความเป็นมาอย่างจริง ๆ จัง ๆ
เริ่มด้วยการเข้าชมหุ่นกาเหล้ที่เราจะได้ล้วงถึงความเชื่อโบราณของเขาชาวจีนฮกเกี๊ยน ซึ่งจะนำเสดงในพิธีไหว้เทวดาหรือองค์หยกอ๋องส่งเต้ของศาลเจ้าต่าง ๆ นับว่าเป็นมหรสพแด่องค์เทพ ที่มีเสียงประกอบของปี่ ผ่าง และฆ้องที่เราจะได้รับชม และสดับรับฟังอย่างเต็มอิ่ม และต้องบอกว่าหุ้นกาเหล้เป็นอะไรที่แรร์ไอเท็มมาก ๆ เพราะเราจะรับชมได้เฉพาะในเมืองเก่าภูเก็ตแห่งนี้เท่านั้น
ต่อมาเราก็ไปเสพย์ความเป็น Original ที่ไม่รู้ว่าในอนาคตจะสาบสูญไปหรือไม่
กับ ‘โรงตีเหล็กไต่สุ่นอั้น’ ที่ตั้งอยู่บนถนนดีบุก เป็นร่องร่อยของความรุ่งเรืองของภูเก็ตในสมัยก่อน และเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ๆ เพราะช่างตีเหล็กที่ดำเนินกิจการอยู่นี้ เป็นผู้สืบทอดรุ่นสุดท้ายแล้ว หลังจากนี้เราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า ‘ไต่สุ่นอั้น’ จะไปในทิศทางไหน เราจึงอยากเชิญชวนทุกคนมาชมด้วยสายตาของตัวเองสักครั้ง
รวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่เราได้ทำ เช่นการพูดคุยกับชาวเปอนารากัน ที่มักไม่ชอบให้คนอื่นเรียกว่าเปอนารากันสักเท่าไหร่ แต่จะชอบให้เรียกว่า ‘บาบ๋า’ และ ‘ย่าหยา’ มากกว่า เราจะสังเกตุเห็นพวกเขาจากการแต่งตัวที่เป็นเอกลักษณ์
หากจะกล่าวถึงกิจกรรมที่เราสามารถทำได้ในหนึ่งวัน บนอณูที่คุกรุ่นด้วยประวัติศาสตร์ของชาวจีนโพ้นทะเล ที่มีลูกผสมทั้งจีน ไทย และมาเลย์ ต้องบอกว่าหนึ่งวันไม่พอแน่นอน เพราะมีหลายกิจกรรมที่เราอยากให้ทุกคนได้ลองทำไม่ว่าจะเป็นการพับกระดาษกิ้ม เพนท์ผ้าบาติก ฯลฯ
แต่ทุกอย่างจะไม่เป็นปัญหาทันที ไม่ต้องมีลายแทงติดมาจากบ้าน เพราะเรามี วิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่พร้อมจะให้บริการ และมอบประสบการณ์ที่ดีแก่นักท่องเที่ยวทุกท่านด้วยการนำเที่ยว และเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาให้ทุกท่านได้ความรู้กลับไปเต็มเปี่ยม
นึกถึงการท่องเที่ยวชุมชนเมืองเก่าภูเก็ตเมื่อไหร่ ให้นึกถึงวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตเป็นอันดับแรก
ติตต่อสอบถามเพิ่มเติมได้เลยที่ 084-305-3960
0 Comment